สานเส้นอย่างไรให้ปังเว่อ! กับเทคนิคการสานเส้นเบื้องต้น! (ตอนที่ 1)
สวัสดีครับเพื่อนๆชาว Manga Course Party ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากห่างหายกันไปนานกับการอัพเดทบทความใหม่ๆจากทางพวกเรากันนะครับ
พอดีได้โอกาสอันเหมาะเจาะลงตัวที่จะกลับมาเขียนบทความเกี่ยวการเทคนิคการวาดรูปวาดการ์ตูนให้เพื่อนๆได้อ่านกัน
(อันที่จริงแล้วคืองานยุ่งมากครับ เลยไม่ว่างเลย ฮา..) อีกทั้งมีแพลนว่าจะอัพเดทหน้าเว็บของเราได้ดูดี
น่าอ่านน่าติดตามกันมากขึ้นด้วย จากนี้ไปจึงจะกลับมาเขียนบทความให้ตัวเว็บมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องมากกว่านี้ด้วยครับผม
ครั้งนี้จะกลับมาพูดถึงอีกหนึ่งเทคนิคในการวาดรูป
ซึ่งมีประโยชน์มากๆในแง่ของการนำไปประยุกต์ใช้ในงานการ์ตูนด้านเทคนิคภาพ หรือแม้กระทั่งใช้ฝึกซ้อมมือตัวเองให้นิ่งมากขึ้นสำหรับการวาดหรือการตัดเส้นงานของตัวเอง
เทคนิคที่ว่านี้ก็คือ “การสานเส้น” นั่นเองครับ
การสานเส้น (Hatching)
จริงๆแล้วเป็นเทคนิคการใช้เส้นในรูปแบบต่างๆสำหรับงานวาดรูป แต่ในทั้งนี้เราจะบีบให้มันแคบลงเฉพาะในงานการ์ตูนที่เราอาจจะเคยเห็นกันบ่อยๆ
ไม่ว่าจะเป็นการสานเส้นแทนแสงเงาตามตัวละคร เสื้อผ้า ฉากหลัง
รวมไปถึงเอฟเฟคต่างๆที่มีการขีดเส้นขัดกันไปมาให้เกิดshadeแทนสีหรือแสงเงาจนเกิดอารมณ์งานตามที่เราต้องการได้
ตัวอย่างงานสานเส้นที่ใช้กับแสงเงาของวัตถุชนิดต่างๆ
เช่นผิวเนื้อ เสื้อผ้า หรือสิ่งของ
ตัวอย่างงานสานเส้นที่ใช้กับบรรยากาศฉากหลัง
จะเห็นได้ว่าการสานเส้นนั้นให้อีกหนึ่งอารมณ์งานทดแทนการลงสีหรือการใส่สกรีนโทน
เพื่อให้ภาพเกิดแสงเงา มิติ ลวยลาย textureหรือพื้นผิวได้เป็นอย่างดี
และตามที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วครับว่านอกจากจะนำมาใช้กับงานวาดเขียนให้ได้เทคนิคที่สวยงามแล้ว
การสานเส้นยังเป็นการฝึกมือของเราให้เกิดความแข็งแรง ความนิ่ง
และความแม่นยำในการใช้งานด้านการวาดหรือการตัดเส้นมากยิ่งขึ้นครับ
เนื่องจากการสานเส้นนั้นเป็นเทคนิคที่ต้องใช้สมาธิในการควบคุมเส้นทุกเส้นจำนวนมากมายมหาศาลที่ขีดลงไปในงาน
ให้มีช่องไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้น้ำหนักมือที่ใช้ในเส้นทุกเส้นต้องเท่ากัน
เสมอกัน จึงถือเป็นการฝึกตัวเองให้ได้ผลในหลายๆทางอีกด้วยครับ
ว่าด้วยเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการสานเส้นกันดีกว่า...หลักๆแล้วการสานเส้นนั้นไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องใช้กับอุปกรณ์ขี้เขียนประเภทไหน จะเป็นดินสอ ปากกาทุกประเภท พู่กัน หรือเมาส์ปากกา ก็สามารถใช้ได้ทั้งนั้นเช่นกันครับ (หรือแม้กระทั่งโปรแกรมวาดภาพลงสีหลายๆโปรแกรมบน computer เอง ก็มีหัวbrushที่เป็นหัวสานเส้นสำเร็จรูปแบบต่างๆมาให้เราได้เลือกใช้กันแล้วด้วยครับ) แต่ในงานการ์ตูนส่วนใหญ่แล้วเราคงเคยเห็นการสานเส้นด้วยปากกาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นปากกา pigment ink ทั่วๆไป หรือใช้หัวปากกาจุ่มหมึกอย่าง g-pen ก็มี แต่ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ชนิดใดก็ตามแต่ การสานเส้นนั้นล้วนมีกลวิธีหรือทฤษฎีการฝึกฝนใช้งานที่ไม่ต่างกันครับ เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงวิธีการสานเส้นแบบต่างๆกันเลยดีกว่า (หลังจากอ่านกันมาตั้งนาน คนอ่านส่วนใหญ่คงบอกว่า...รอช่วงนี้อยู่นี่แหละ ฮาาา)
การสานเส้นขั้นพื้นฐาน
การสานเส้นขั้นพื้นฐาน อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆเลยคือการขีดเส้นเรียงกันเป็นกลุ่มเล็กๆ
โดยพยายามให้ระยะห่างระหว่างเส้น (ในที่นี้จะขอเรียกว่า ช่องไฟ )
มีความห่างเท่าๆกันและไม่ควรห่างจากกันมากเกินไป
อาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมรูปด้านบนถึงมีกลุ่มการสานเส้นอยู่สองขนาด
จำแนกง่ายๆว่าแบบกลุ่มใหญ่จะใช้เส้นที่ยาวกว่า ช่องไฟที่ค่อนข้างห่างกว่า
และมีความยากกว่า เหมาะสำหรับใช้ในการขีดเพื่อฝึกความนิ่งของมือ
ในขณะที่การสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆนั้นจะเป็นขนาดที่เหมาะเอาไว้ใช้กับการทำงานจริงๆเสียมากกว่า
อาจจะดูเหมือนง่ายกว่ากลุ่มใหญ่ๆตรงที่ใช้เส้นสั้น มีขนาดเล็ก แต่ก็ต้องอย่าลืมคำนึงว่าช่องไฟระหว่างเส้นนั้นก็จะแคบลงด้วยเช่นกัน
ซึ่งหากไม่ระวังหรือกะระยะช่องไฟให้ดีในขณะที่ขีดลงไปก็จะทำให้งานเสียได้ง่ายเช่นกันครับ
พูดถึงการใช้งานจริงแล้ว
เราจะเรียกการสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆไปในทิศทางเดียวกันแบบนี้ว่า “สานเส้น1ชั้น”
...ฟังดูแล้วเดี๋ยวคงจะมีการสานเส้น2ชั้น 3ชั้น ตามกันมาอย่างแน่นอนครับ...ฮา
การสานเส้น1ชั้นสำหรับใส่ลงไปในงานจริงของเรานั้นอาจจะมีคำถามตามมาว่า
หากเป็นพื้นที่ใหญ่ จะมีวิธีสานเส้นลงไปยังไงกับพื้นที่ดังกล่าว...เราจำแนกวิธีการสานเส้นบนพื้นที่ที่เราต้องการให้ดูกันสองแบบครับ
การถมพื้นที่ให้เต็มด้วยเทคนิคการสานเส้นนั้น
เราจะใช้วิธีการสานเส้น1ชั้นเป็นก้อนเล็ก
วางต่อๆกันไปเรื่อยๆในแต่ละก้อนจะเต็มพื้นที่ที่เราต้องการ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองแบบตามภาพด้านบน
จะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของทิศทางการสานเส้นในแต่ละก้อนที่ไม่เหมือนกัน
- แบบแรกคือแบบที่ทุกๆก้อนในการสานเส้น1ชั้นนั้น
เราจะสานเรียงไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด
การสานเส้นลักษณะนี้จะให้อารมณ์ด้านภาพที่ดูนุ่มนวลตา
ดูอ่อนนุ่มอันเนื่องมาจากทิศทางของทุกๆเส้นไหลเรียงไปในทางเดียวกัน
- ในขณะที่แบบที่สองนั้นจะใช้วิธีจัดเรียงการสานเส้น1ชั้นในแต่ละก้อนไปในทิศทางหรือองศาที่ต่างกัน
ให้ความรู้สึกหยาบและมีพื้นผิวมากกว่าแบบแรกเยอะครับ
การสานสั้น1ชั้นนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการสานเส้นในลำดับชั้นต่อๆไป
เนื่องจากการสานเส้น1ชั้นนั้นจะเปรียบเสมือนการ “รองพื้นงาน”
หากน้ำหนักเส้นหรือช่องไฟทั้งหมดของการรองพื้นงานดูเละเทะไม่สวยงาม ก็จะส่งผลไปยังการสานเส้นชั้นที่2...ชั้นที่3
ได้โดยง่ายครับ
*tip*
อย่าละเลยการฝึกสานเส้น1ชั้นแบบเป็นกลุ่มขนาดใหญ่อยู่เสมอ
เพื่อให้ข้อมือของเราจดจำความรู้สึกที่ใช้ในการขีดอย่างถูกต้องแม่นยำได้ครับ
การสานเส้น2ชั้น
การสานเส้น2ชั้นเป็นstepถัดมาของการสานเส้น1ชั้น
ซึ่งเราจะมีโอกาสได้ใช้งานค่อนข้างบ่อยสำหรับการสานเส้น2ชั้นนี้
โดยการสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆเช่นเคย ทับลงไปบนพื้นที่ที่ทำการสานเส้นชั้นแรกเอาไว้แล้วโดยใช้องศาของเส้นไม่ซ้ำกับการการสานเส้นชั้นแรกที่ได้ทำการสานลงไป
โดยจากภาพจะเป็นว่าการสานเส้น2ชั้นนี้จะแบ่งออกเป็นสองรูปแบบที่แตกต่างกันในด้านขององศาการขัดเส้นครับ
-แบบแรก จะใช้เส้นขัดประมาณ90องศา
จากทิศทางเดิมของการสานเส้นชั้นแรก ทำให้ได้งานที่ดูมีช่องไฟเป็นtextureชัดเจน
สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นผิวที่ค่อนข้างแข็ง
- แบบที่สอง จะใช้เส้นขัดที่มีองศาน้อยๆ
ประมาณ30องศา
ทำให้ได้เส้นที่ดูขัดเฉียงค่อนข้างไปทางเดียวการการสานเส้นเป็นก้อนๆในชั้นแรก
สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นผิวที่มีความนุ่มมากกว่าการสานเส้น2ชั้นชนิดแรก
นอกจากนี้เรายังสามารถนำเทคนิคการสานเส้นแบบสองชั้น
ทั้งสองวิธี นำมาประยุกต์ใช้การเทคนิคการสานเส้นบนพื้นที่กว้างๆ ด้วยการสานเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆต่อๆกันให้เต็มพื้นที่
เช่นเดียวกับการสานเส้น1ชั้นแบบตัวอย่างด้านบนได้ด้วยครับ
จะเห็นได้ชัดเจนเลยครับว่าการสานเส้น2ชั้นแบบแรก
ที่ใช้องศาในการขีดเส้น90องศา งานที่ออกมาจะดูมีพื้นผิวที่หยาบ แข็ง
เหมาะสำหรับเอาไว้ใช้สานอาคารบ้านเรื่อน พื้น ก้อนหิน หรืออะไรก็ตามที่มีผิวสัมผัสที่แข็ง
ในขณะที่การสานเส้น2ชั้นแบบที่สองที่ใช้องศาของเส้นค่อนข้างน้อยนั้น
งานที่ได้จะดูนุ่มกว่า ซึ่งก็อาจจะเก็บเอาไว้ใช้กับการสานเส้นเป็นเงาเข้มชั้นสองแก่พวกพื้นผิวเสื้อผ้า
ผิวเนื้อ หรืออะไรก็ตามที่มีผิวสัมผัสนิ่มครับ
*tip*
การสานเส้น2ชั้นบนพื้นที่กว้างๆ
แนะในให้ทำการสานเส้น1ชั้นให้ครบเต็นพื้นที่เสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาสานทั้งชั้นที่2ทีละก้อนครับ
การสานเส้นนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการขีดเส้นขัดกันไปมาเพียงอย่างเดียว
แต่ยังเป็นศาสตร์ในด้านงานภาพชนิดหนึ่งที่สื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึกไปยังผู้ชมด้วย
เพราะฉะนั้นการบรรจงขีดเส้นแต่ละ กะระยะช่องไฟแต่ละช่อง
เลือกรูปแบบและองศาในการขีดเส้นขัดลงไป
ทั้งหมดก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องผ่านการฝึกฝนให้เกิดทั้งความชำนาญ ความเข้าใจ
เกิดความเคยชินแก่มือ สายตา และการตัดสินใจว่าจะต้องขีดเส้นออกมาแบบไหน
จึงจะสวยงามและสื่อสารกับคนที่ดูงานเราได้ไปในทิศทางที่ดีที่สุดด้วยครับ...
แต่เนื้อหาของเทคนิคการสานเส้นยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับ
ในครั้งหน้า เรายังคงเหลือเทคนิคการสานเส้นแบบ 3 – 4 ชั้น และตัวอย่างงานจริงที่ใช้เทคนิคการสานเส้นแบบเต็มๆทั้งภาพมาฝากกันอีก
ยังไงก็อดใจรอกันอีกนิด และเอาไว้คอยติดตามกันให้ดีนะครับ
ส่วนใครอ่านแล้วมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามหรือพิมพ์คอมเม้นท์กันไว้ได้ ทั้งที่นี่และทางfacebook fanpageของเรา ที่นี่ ครับ
ส่วนใครอ่านแล้วมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามหรือพิมพ์คอมเม้นท์กันไว้ได้ ทั้งที่นี่และทางfacebook fanpageของเรา ที่นี่ ครับ
แล้วเจอกันอีกทีในตอนหน้าครับ!